วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

นิทานเวตาล เรื่องที่ 10

ที่มาของเรื่อง
                นิทานเวตาล ฉบับนิพนธ์ พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ มีที่มาจากวรรณกรรมสันสกฤตของอินเดีย  โดยมีชื่อเดิมว่า “เวตาลปัญจวิงศติ” ศิวทาสได้แต่งไว้ในสมัยโบราณต่อมาได้มีผู้นำนิทานเวตาลทั้งฉบับภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดีมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยร้อยเอก เซอร์ ริชาร์ด เอฟ. เบอร์ตัน  ก็ได้นำมาแปลและเรียบเรียงแต่งแปลงเป็นสำนวนภาษาของตนเองให้คนอังกฤษอ่าน แต่ไม่ครบทั้ง 25 เรื่อง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้ทรงแปลนิทานเวตาลจากฉบับของเบอร์ตัน จำนวน 9 เรื่อง และจากฉบับแปลสำนวนของ ซี. เอช. ทอว์นีย์   อีก 1 เรื่อง รวมเป็นฉบับภาษาไทยของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ 10 เรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2461 นิทานเวตาลเป็นนิทานที่มีลักษณะเป็นนิทานซับซ้อนนิทาน คือ มีนิทานเรื่องย่อยซ้อนอยู่ในนิทานเรื่องใหญ่

ลักษณะการแต่ง
           นิทานเวตาล แต่งเป็นร้อยแก้ว    โดยนำทำนองเขียนร้อยแก้วของฝรั่งมาปรับเข้ากับสำนวนไทยได้อย่างกลมกลืน และไม่ทำให้เสียอรรถรส แต่กลับทำให้ภาษาไทยมีชีวิตชีวา จึงได้รับยกย่องเป็นสำนวนร้อยแก้วที่ใหม่ที่สุดในยุคนั้น เรียกว่า “สำนวน น.ม.ส.

จุดมุ่งหมาย
                   แต่งเพื่อสอนให้มนุษย์รู้จักคิดให้รอบคอบ ไตร่ตรองให้ดี การใช้ปัญญาอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไ-ปัญหาได้ตลอด ต้องมีสติกำกับปัญญา จึงจะผ่านปัญหาต่างๆไปได้

ประวัติผู้แต่ง
            พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ   ทรงชำนาญด้านภาษาและวรรณคดีเป็นพิเศษ  ได้นิพนธ์หนังสือไว้มากมายโดยใช้นามแฝง “น.ม.ส.” ซึ่งทรงเลือกจากอักษรตัวหลังพยางค์ของพระนาม(พระองค์เจ้า) “รัชนีแจ่มจรัส
            พระนามแฝง “น.ม.ส.”  เป็นที่รู้จักกันดีในนามนักเขียนและกวีที่มีโวหารพิเศษ คือ คมคายและขบขัน  เมื่อทรงเขียนเรื่องชีวิตของนักเรียนเมืองอังกฤษ ลงในหนังสือ วชิรญาณครั้งแรกผู้อ่านก็ชอบใจทันที  เพราะมีความแปลกใหม่ทั้งแนวเขียนแนวคิด  ความชำนาญทางภาษาเยี่ยมยอด จึงได้ทรงรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงทางคุณวุฒิหลายครั้ง  เช่น  องคมนตรี สภานายก ราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น
            พระองค์ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์และมีกิจการพิมพ์ส่วนพระองค์ที่ถนนประมวญ และทรงออกหนังสือเครือประมวญ  ชื่อประมวญวัน และประมวญมารค
            งานนิพนธ์มีทั้ง ๒ ประเภท ดังนี้
๑.ประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ จดหมายจางวางหร่ำ นิทานเวตาล สืบราชสมบัติ ตลาดเงินตรา พระนางฮองไทเฮา และที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ บทความหน้า ๕ ในหนังสือประมวญวัน
๒.ประเภทร้อยกรอง ได้แก่ กนกนครคำกลอน พระนลคำฉันท์ สามกรุง

เนื้อเรื่องย่อ
     ในโบราณกาล มีเมืองที่ใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ กรุงธรรมปุระ พระราชาทรงพระนามว่า ท้าวมหาพล มีพระมเหสีที่ทรงสิริโฉมงดงามแม้มีพระราชธิดาที่ทรงเจริญวัยแล้ว ต่อมาได้เกิดศึกสงครามทหารของท้าวเอาใจออกห่าง ทำให้ทรงพ่ายแพ้ พระองค์จึงทรงพาพระมเหสีและพระราชธิดาหลบหนีออกจากเมืองเพื่อไปเมืองเดิมของพระมเหสี ในระหว่างทางท้าวมหาพลได้ถูกโจรรุมทำร้ายเพื่อชิงทรัพย์และสิ่งของมีค่า จนพระองค์สิ้นพระชนม์ จนพระราชธิดาและพระมเหสีเสด็จหนีเข้าไปในป่าลึก
   ในเวลานั้นมีพระราชาทรงพระนามว่า ท้าวจันทรเสน กับพระราชบุตร ได้เสด็จมาประพาสป่าและพบรอยเท้าของสตรีซึ่งเมื่อพบสตรีทั้งสองจะให้รอยเท้าที่ใหญ่เป็นพระมเหสีของท้าวจันทรเสน และรอยเท้าที่เล็กเป็นพระชายาของพระราชบุตร แต่เมื่อพบนางทั้งก็ปรากฏว่า รอยเท้าที่ใหญ่คือพระราชธิดา และรอยเท้าที่เล็ก นั้นคือ พระราชมารดา ดังนั้นพระราชธิดาจึงเป็นพระมเหสีของท้าวจันทรเสน และพระมารดาได้เป็นพระชายาของพระราชบุตร

ข้อคิดที่ได้รับ

                
หากมนุษย์รู้จักใช้ปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วยและรอบด้าน แม้ปัญหาจะยากเย็นซับซ้อน เพียงใดก็สามารถแก้ไขหรือทำความเข้าใจได้เสมอ  แต่การใช้ปัญญาเพียงอย่างเดียวมิอาจแก้ปัญหาทุกสิ่งได้เสมอไป  มนุษย์ต้องมีสติกำกับปัญญาของตนด้วยการใช้สติปัญญาควบคู่กันไป   คือหลักสำคัญในการนำมนุษย์ไปสู่ความสำเร็จ  อีกทั้งคำพูดของมนุษย์มีความสำคัญยิ่ง เพราะคำพูดเป็นสิ่งที่ต้องรักษาดังนั้นหาพูดออกมาโดยมิได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้รอบด้านเสียก่อน ก็จะนำหายนะหรือปัญหาซึ่งยากจะแก้ไขมาสู่ตนได้   ความกล้าหาญมุ่งมั่นและความเพียรเป็นคุณลักษณะที่น่าชื่นชม